thai version english  
 
dr-sak
cai
research works
invention
Project
nicu setting
books
weblink
news
site map
 
 
 
 

ศิริราชช่วยพัฒนาคุณภาพการดูแลทารกแรกเกิดของประเทศไทย
ศาสตราจารย์ นพ. เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์
 
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

     จากการเป็นอาจารย์กุมารแพทย์ที่มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาให้กระทรวงสาธารณสุขด้านอนามัยครอบครัว การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการพัฒนาการดูแลทารกแรกเกิดของประเทศ ผ่านโครงการ Safe Motherhood Hospital Project ที่สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก โดยเป็นผู้กำหนดเกณฑ์การประเมินและเป็นผู้ตรวจระบบคุณภาพการดูแลทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทำให้ตระหนักถึงปัญหาสาธารณสุขของประเทศด้านการดูแลทารกแรกเกิด จึงพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลทารกแรกเกิดของศิริราชเพื่อให้เป็นสถานที่ตัวอย่างของการดูแลทารกแรกเกิด ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการดูแลทารกแรกเกิดของประเทศ การพัฒนามุ่งพัฒนาทรัพยากรที่ใช้สำหรับการดูแลทารกแรกเกิดทั้ง 3 สิ่งคืออุปกรณ์การแพทย์ บุคลากรทางสุขภาพ และหอผู้ป่วยสำหรับดูแลทารกแรกเกิด ตัวอย่างของความพยายามที่ได้ทำสำเร็จคือ

 
 

การพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์
     การดูแลทารกแรกเกิดขั้นพื้นฐานให้ได้คุณภาพตามหลักสากล ต้องการอุปกรณ์พื้นฐานจำนวนมาก เนื่องจากอุปกรณ์ที่ผลิตจากต่างประเทศมีราคาแพง จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการดูแลขั้นพื้นฐาน หน่วยทารกแรกเกิดมีวิสัยทัศน์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ว่า การที่จะพัฒนาคุณภาพการดูแลทารกแรกเกิดขั้นพื้นฐานของ ศิริราชและประเทศ ต้องสามารถพึ่งพาตนเองด้านอุปกรณ์การแพทย์ขั้นพื้นฐาน จึงได้พัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและราคาถูก สำหรับใช้เองภายในศิริราชและโรงพยาบาลทั่วประเทศ ตัวอย่างอุปกรณ์สำคัญที่พัฒนาขึ้นเองมีดังนี้
       - เครื่องเทียบสีบิลิรูบินในพลาสมาด้วยตา ผลิตปี พ.ศ. 2548 เครื่องที่ผลิตจากต่างประเทศราคา 150,000 บาท/เครื่อง เครื่องที่ผลิตจำหน่ายในราคา 5,000 บาท อุปกรณ์นี้ช่วยให้โรงพยาบาลชุมชนร้อยละ 90 ทั่วประเทศ (ทั่วประเทศมีโรงพยาบาลชุมชน 719 แห่ง) ที่ไม่มีเครื่องวัดบิลิรูบิน สามารถดูแลทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลือง ทำให้ไม่ต้องส่งต่อทารกไปรับการส่องไฟที่โรงพยาบาลทั่วไป/ศูนย์ การส่งต่อมีผลกระทบต่อครอบครัว การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเพิ่มภาระให้แก่โรงพยาบาลที่รับทารก
       - เครื่องให้ความอบอุ่นโดยการแผ่รังสี ผลิตปี พ.ศ. 2534  เครื่องที่ผลิตจากต่างประเทศราคา 200,000 บาท/เครื่อง เครื่องที่ผลิตจำหน่าย 29,000 บาท
       - เครื่องส่องไฟสำหรับรักษาภาวะตัวเหลือง (phototherapy lamp) ผลิตปีพ.ศ. 2540 เครื่องที่ผลิตจากต่างประเทศราคา 180,000 บาท/เครื่อง เครื่องที่ผลิตจำหน่าย 35,000 บาท
       - เครื่องอุ่นเลือดสำหรับการถ่ายเปลี่ยนเลือด (blood warmer) ผลิตปี พ.ศ. 2537 ในประเทศไทยมีเพียงโรงพยาบาลศิริราชทีพัฒนาจนใช้เครื่องอุ่นเลือดเวลาถ่ายเปลี่ยนเลือดให้แก่ทารกแรกเกิด
       - ผ้าคลุมตู้อบ ผลิตปี พ.ศ. 2542  หน่วยทารกแรกเกิด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ริเริ่มการดูแลสิ่งแวดล้อมให้มีสภาพเหมือนสิ่งแวดล้อมในครรภ์ คือ การลดสิ่งกระตุ้น ได้แก่ แสง เสียง และการสัมผัส โดยการปิดไฟในหอผู้ป่วย การใช้ผ้าคลุมตู้อบ ได้เชิญภาคเอกชน 3 บริษัท มาร่วมพัฒนาการแพทย์สาขาทารกแรกเกิดด้วยการผลิตผ้าคลุมตู้อบแจกให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศโดยไม่มีคิดมูลค่า

 
 
การพัฒนาทรัพยากรด้านบุคลากรให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
     การพัฒนาทรัพยากรด้านบุคลากรให้มีความรู้ในการดูแลทารกแรกเกิดและการใช้อุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นในการดูแลทารกแรกเกิด โดยจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ด้วยตนเอง (ห้อง E-learning) และ website เพื่อเป็น สถานที่รองรับการเรียนรู้ทั้งในลักษณะการสอนเสริมและการเรียนรู้ด้วยตนเองสำหรับนักศึกษาและแพทย์ประจำบ้าน ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช และคณะแพทยศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยอื่น ๆ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขและ บุคลกรทางสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อทดแทนการขาดอาจารย์แพทย์สาขาทารกแรกเกิด และให้การเรียนการสอนวิชาทารกแรกเกิดของประเทศได้มาตรฐานใกล้เคียงกัน
 
 
การพัฒนาสถานที่ดูแลทารกแรกเกิด
     หน่วยทารกแรกเกิดได้พัฒนาหออภิบาลทารกแรกเกิด และหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้มาตรฐานการดูแลทารกแรกเกิด และการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เทียบเท่าประเทศพัฒนาจนเป็นสถานที่ตัวอย่างสำหรับการฝึกอบรมการดูแลทารกแรกเกิด การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการให้พ่อแม่มีส่วนร่วมในการดูแลลูก ให้แก่บุคลากรทางสุขภาพสังกัดภาครัฐและเอกชน การเยี่ยมและการเป็นวิทยากรโรงพยาบาลได้ช่วยแนะนำสถานที่ดูแลทารกแรกเกิด ของโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐาน
 
 
การเน้น family-centered care เป็นแห่งแรกของประเทศ
     หน่วยทารกแรกเกิดได้ริเริ่ม family-centered care เป็นแห่งแรกของประเทศ ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ
          - การยอมรับศักดิ์ศรีของพ่อแม่และให้ความนับถือพ่อแม่
          - การให้ข้อมูลแก่พ่อแม่อย่างตรงไปตรงมาและไม่ปิดบัง
          - การสร้างพลังอำนาจในการพึ่งพาตนเองแก่พ่อแม่โดยให้พ่อแม่ร่วมรับผิดชอบลูก    
          - การมีนโยบาย family-centered care ในหน่วยงานเพื่อให้บุคลากรทุกคนใน หน่วยงานทราบ
     หน่วยทารกแรกเกิดเป็น แห่งเดียวในประเทศและในโลก ที่ส่งเสริมให้แม่อยู่กับทารก 24 ชม. โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักและอาหาร และรับผิดชอบลูกร่วมกับแพทย์และพยาบาล โดยมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้านการทำความสะอาด การเฝ้าติดตามทารก (monitoring) และการให้นมทารก การให้แม่อยู่กับลูกมีผลให้แม่ประสบความสำเร็จในการให้นมแม่ ลูกไม่ถูกทิ้ง ลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล เพราะลดการติดเชื้อ และทารกกลับบ้านได้เร็วขึ้น
 
     
 


Search Engine Optimization and SEO Tools 

 
 
 
 

©Copyright 2001 Professor Kriangsak Jirapaet
Department of Pediatrics, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University.
Tel./Fax. 02-4182560

You need Download Flashplayer 8 to view this site | Resolution 1440 by 900 Pixels