ทารกร้องหน้าแดง

        
โรคปวดท้องหรืออ้อนสามเดือนหมายถึงภาวะที่ประกอบด้วยลักษณะต่อไปนี้ 
1. อาการรุนแรงเกิดขึ้นทันทีทันใด และเกิดซ้ำ ๆ ในเวลาเดียวกัน (paroxysms of irritability) 
2. กวน (fussing) หรือร้องไห้เกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน 
3. มีอาการมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และเป็นนานกว่า 3 สัปดาห์ 
4. มีเสียงร้องที่ต่างจากเสียงร้องในภาวะอื่น ๆ คือร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด
      หรือแผดเสียง(screaming)  ที่ทำให้เสียงร้องมีเสียงสูง (higher pitch) 
    และดังมาก (more intensity) กว่าเสียงร้องในภาวะอื่น 
5. มีอาการแสดงออกทางกายภาพ เช่น ความตึงของกล้ามเนื้อเพิ่ม (hypertonia)
6. ไม่มีวิธีการใด ๆ ที่จะปลอบ (soothing effort) ให้ทารกสงบได้
7. ทารกน่ารักและปรกติทุกอย่างเมื่อไม่มีอาการปวดท้อง และมีน้ำหนักเพิ่มปรกติ 
สาเหตุ  เกิดจากการปวดท้องที่มีสาเหตุทั้งที่ทราบและไม่ทราบ อาจเกิดจากทารกกลืนลมมากไป 
              ได้รับนมมากไป หรือได้อาหารบางชนิด โดยเฉพาะที่มีส่วนประกอบจำพวกแป้งสูง ซึ่งมี
              ผลให้มีก๊าซ (fermentation) ในลำไส้มาก  มีผลให้ท้องอืดและแน่นท้อง หรือแพ้โปรตีน
              ของนมวัว 
การวินิจฉัย  
             ต้องมีลักษณะครบทั้ง 7 ข้อดังกล่าว  ปรกติพบในทารกต่ำกว่า 3 เดือน โดยมีลักษณะ
               เฉพาะคือ อาการปรากฏหลังคลอด 2-3 สัปดาห์ และมีอาการตอนบ่ายหรือเย็น ทารก
               ร้องเสียงดังมากทันทีทันใด การร้องมักต่อเนื่องและเป็นพัก ๆ นานหลายชั่วโมง ใบหน้า
               อาจแดงก่ำ หรือมีซีดรอบปาก ท้องอืดและแข็ง ขางอพับอยู่บนท้องและอาจเหยียดออก
               เป็นครั้งคราว มือกำแน่น เท้ามักเย็น การร้องอาจหยุดต่อเมื่อทารกร้องจนหมดแรง 
               บางครั้งอาการปวดอาจทุเลาเมื่อทารกผายลมหรือถ่ายอุจจาระ  อุบัติการของภาวะใน
               ต่างประเทศ พบในทารกร้อยละ 8-45 เมื่อเริ่มมีอาการ การวินิจฉัยอาศัยการตรวจร่างกาย
               อย่างละเอียด และการวินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ เช่น หูอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ลำไส้กลืน 
               (intussusception) ไส้เลื่อนและลำไส้ถูกบีบเค้น (strangulated hernia) เป็นต้น  ทารก
                อาจเกิดอาการช้า  ผู้เขียนพบทารกหลายรายที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวในเดือนแรกและมี
                อาการปวดท้องเมื่ออายุ 1 เดือนเศษ หลังให้นมวัวได้ 1 สัปดาห์ 
การป้องกัน 
             ป้อนนมทารกและไล่ลมหลังมื้อนมให้ถูกต้องและนานพอ หากใช้นมผสม ต้องอุ้มทารกและถือ
             ขวดนมให้ถูกต้อง อย่าปล่อยให้ทารกร้องนาน และป้องกันการกลืนลม อย่าป้อนนมมากหรือ
             น้อยไป
การรักษา 
            ในตำรามักกล่าวว่า ไม่มีการรักษาใด ๆ ที่ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นยาขับลม ยาเหน็บ
             เพื่อให้ทารกถ่ายหรือยานอนหลับ  วางทารกให้นอนคว่ำขวางบนตักคุณแม่หรือบนกระเป๋า
             น้ำอุ่นอาจช่วยบรรเทา
            
             หากทารกได้รับนมแม่และมีอาการเมื่อให้นมวัว ให้พิจารณางดนมวัว หากพบในทารกที่เลี้ยง
นมแม่อย่างเดียวและคุณแม่ดื่มนม ให้คุณแม่งดดื่มนม เพราะโปรตีนของนมวัวออกมาในน้ำนมแม่ได้ 
ถ้าการปวดท้องเกิดจากแพ้ โปรตีน นมวัว ทารกจะหยุดร้อง หากไม่ใช่แพ้โปรตีนในนมวัว พยายาม
ถามประวัติอาหารของคุณแม่ที่อาจเป็นสาเหตุ
            เนื่องจากผู้เขียนพบว่าในครอบครัวที่มีทารกป่วยด้วยภาวะนี้ บุคคลทุกคนในครอบครัว
จะมีความเครียดมาก โดยเฉพาะคุณแม่ บางคนถึงกับร้องไห้ และไม่อยากให้เวลาเย็นมาถึง บาง
ครั้งเป็นสาเหตุของการทะเลาะกันในครอบครัว แพทย์จึงต้องพยายามลดความเครียดให้ และ
พยายามพูดให้คุณพ่อเข้าใจความเครียดของคุณแม่ เพื่อให้อภัยคุณแม่ คุณแม่บางคนเล่าว่า 
เวลาลูกร้องมาก ๆ คิดตีลูก หรือทิ้งลูก  ผู้เขียนได้พยายามหายามาบรรเทาภาวะนี้เพื่อให้เกิด
ความสงบสุขในครอบครัว โดยใช้มาตั้งแต่ปี 2520 ก่อนที่จะมีรายงานเกี่ยวกับผลเสียของยานี้  
พบว่า การให้ dicyclomine hydrochloride ชนิดน้ำเชื่อม 1 มล. (10 มก./5 มล.) ทางปาก 
วันละหนึ่งครั้งก่อนเวลาร้องครึ่งชั่วโมงช่วยป้องกันอาการปวดท้องได้ดี  การสั่งยาไม่ควรให้
จำนวนมาก ควรสั่งให้เพียง 15 มล. เพื่อดูการตอบสนองและพิสูจน์ว่าเกิดจากการปวดท้อง
หรือไม่  หากเป็นภาวะนี้ จะเห็นผลในคืนแรกที่ให้ยา  ระยะหลังมีรายงานการใช้ยานี้จากสหรัฐ ฯ 
ที่พบว่าทารกที่ได้รับยานี้มีหัวใจหยุดเต้น ซึ่งผู้เขียนไม่เคยพบเลย อาจเพราะผู้เขียนใช้ปริมาณยา
น้อย และให้ป้อนโดยใช้ที่หยดหรือกระบอกยา และให้เมื่อแน่ใจว่าทารกเป็นโรคอ้อนสามเดือน  
การให้ยาจึงต้องให้ด้วยความระมัดระวังและเมื่อจำเป็นจริง ๆ อย่าให้ยาเกินขนาด และลองหยุด
ยาเมื่อทารกดีขึ้น